รายงานการค้นคว้าครูชํานาญการพิเศษ

ลิ้งค์ รายงานการค้นคว้าอบรมครูชํานาญการพิเศษ

https://drive.google.com/file/d/1widKiUuj2-oCN1q6wWLxX7czIT8V55NM/view?usp=sharing


สรุปการสร้างองค์ความรู้และจัดทำรายงานการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากร
ทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้มีและเลื่อนเป็นวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ
**************************************

บทนำ

รายงานการศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้ศึกษาเกี่ยวกับหลักสูตรการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้มีและเลื่อนเป็นวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ และได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมจากหนังสือ ตำรา เอกสาร บทความ งานวิจัย สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ ในหน่วยการเรียนรู้ตามแนวทางของหลักสูตรพัฒนาฯ  โดยแบ่งเป็น 2  ส่วน  ดังนี้

ส่วนที่ 1 การพัฒนาสมรรถนะในการปฏิบัติหน้าที่ครูชำนาญการพิเศษ
หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 เทคนิคการออกแบบการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน 
1. การวิเคราะห์และพัฒนาหลักสูตร
2. การออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับหลักสูตรและบริบทของสถานศึกษา
3. การออกแบบการวัดและประเมินผลการเรียนรู
         หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 ภาวะผู้นำทางวิชาการ 
1. การเป็นผู้นำทางวิชาการ
2. การสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน
3. นวัตกรรมการบริหารจัดการชั้นเรียนแนวใหม่
4. จิตวิทยาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน
5. การให้คำปรึกษา คำแนะนำ และข้อเสนอแนะ

ส่วนที่ 2 การสังเคราะห์บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบและวางแผนพัฒนาคุณภาพ การปฏิบัติงานของครูชำนาญการพิเศษ 
หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 ความเป็นครู
1. พัฒนาจิตวิญญาณของความเป็นครู เพื่อสร้างคุณธรรมจริยธรรม
2. วินัยและจรรยาบรรณวิชาชีพครู
3. หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 การวางแผนกลยุทธ์เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
1. การวิเคราะห์บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
2.การวางแผนกลยุทธ์เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
3.การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
จากประเด็นทั้ง  2 ส่วนข้างต้น ข้าพเจ้ามาสามารถสรุปองค์ความรู้จากที่ได้จากการศึกษา ดังนี้

ส่วนที่ 1 การพัฒนาสมรรถนะในการปฏิบัติหน้าที่ครูชำนาญการพิเศษ
หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 เทคนิคการออกแบบการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน 
1.การวิเคราะห์และพัฒนาหลักสูตร
Taba (1962) สรุปขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรได้ประกอบด้วย
ขั้นที่  1 การสำรวจความต้องการ (diagnosis of needs) ครูหรือผู้ร่างหลักสูตรเริ่มกระบวนการ ด้วยการสำรวจความต้องการของนักเรียนที่หลักสูตรได้วางแผนไว้
          ขั้นที่ 2 การกำหนดจุดมุ่งหมาย (formulation of objectives) หลังจากที่ครูได้ระบุความต้องการของนักเรียนแล้ว ครูกำหนดจุดมุ่งหมายที่จะให้บรรลุผล
          ขั้นที่ 3 การเลือกเนื้อหา (Selection of contents) จุดมุ่งหมายที่เลือกไว้หรือที่สร้างขึ้นเป็นตัวชี้แนะแนวทางในการเลือกรายวิชาหรือเนื้อหาของหลักสูตร ซึ่งควรเลือกเนื้อหาที่มีความเที่ยงตรงและสำคัญด้วย
          ขั้นที่ 4 การจัดเนื้อหา (Organization of contents) เมื่อครูเลือกเนื้อหาได้แล้ว ต้องจัดเนื้อหาโดยเรียงลำดับขั้นตอนให้ถูกต้อง คำนึงถึงวุฒิภาวะของนักเรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสนใจของผู้เรียนด้วย
          ขั้นที่ 5 การเลือกประสบการณ์การเรียน (Selection of learning experiences) เมื่อได้เนื้อหาแล้วครูคัดเลือกวิธีการสอนที่เหมาะสมกับเนื้อหาและผู้เรียน
          ขั้นที่ 6 การจัดประสบการณ์เรียน (organization of learning experiences) กิจกรรมการเรียนการสอนควรได้รับการจัดเรียงลำดับขั้นตอนเช่นเดียวกับเนื้อหา แต่ครูต้องจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้เหมาะกับผู้เรียนด้วย
          ขั้นที่ 7 การประเมินผลและวิธีการประเมินผล (evaluation and means of evaluation) ผู้ที่วางแผนหลักสูตรต้องประเมินว่าจุดมุ่งหมายใดบรรลุผลสำเร็จและทั้งครูและนักเรียนควรร่วมกันกำหนดวิธีการประเมินผล


2.  การออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับหลักสูตรและบริบทของสถานศึกษา
         
กระทรวงศึกษาธิการ (2551) การจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน   โดยยึดหลักว่า ผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด เชื่อว่าทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้  ยึดประโยชน์ที่เกิดกับผู้เรียน กระบวนการจัดการเรียนรู้ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียน สามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและพัฒนาการทางสมอง เน้นให้ความสำคัญทั้งความรู้ และคุณธรรม 
 การออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ   ผู้เรียนจะต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย  เป็นเครื่องมือที่จะนำพาตนเองไปสู่เป้าหมายของหลักสูตร  กระบวนการเรียนรู้ที่จำเป็นสำหรับผู้เรียน อาทิ กระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ กระบวนการสร้างความรู้  กระบวนการคิด กระบวนการทางสังคม กระบวนการเผชิญสถานการณ์และแก้ปัญหา กระบวนการเรียนรู้   จากประสบการณ์จริง กระบวนการปฏิบัติ ลงมือทำจริง  กระบวนการจัดการ กระบวนการวิจัย กระบวนการเรียนรู้การเรียนรู้ของตนเอง กระบวนการพัฒนาลักษณะนิสัย
     กระบวนการเหล่านี้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนควรได้รับการฝึกฝน พัฒนา เพราะจะสามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี  บรรลุเป้าหมายของหลักสูตร ดังนั้น ผู้สอน จึงจำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจในกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเลือกใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

       ผู้สอนต้องศึกษาหลักสูตรสถานศึกษาให้เข้าใจถึงมาตรฐานการเรียนรู้  ตัวชี้วัด  สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์  และสาระการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน  แล้วจึงพิจารณาออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยเลือกใช้วิธีสอนและเทคนิคการสอน  สื่อ/แหล่งเรียนรู้ การวัดและประเมินผล เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพและบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด   โดยที่ยึดแหล่งเรียนเรียนในท้องถิ่นที่อยู่รวมกับบริบทของสถานศึกษา จนสามารถสร้างเป็นหลักสูตรท้องถิ่นที่ตอบสนองต่อความต้องการของทุกภาคส่วนที่ร่วมกันบริหารสถานศึกษา

3.  การออกแบบการวัดและประเมินผลการเรียนรู้
การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนต้องอยู่บนหลักการพื้นฐานสองประการคือ
การประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียนและเพื่อตัดสินผลการเรียน  ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน          ให้ประสบผลสำเร็จนั้น  ผู้เรียนจะต้องได้รับการพัฒนาและประเมินตามตัวชี้วัดเพื่อให้บรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้ สะท้อนสมรรถนะสำคัญ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นระดับชั้นเรียน  ระดับสถานศึกษา  ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับชาติ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ เป็นกระบวนการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโดยใช้ผลการประเมินเป็นข้อมูลและสารสนเทศที่แสดงพัฒนาการ ความก้าวหน้า และความสำเร็จทางการเรียนของผู้เรียน  ตลอดจนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิด  การพัฒนาและเรียนรู้อย่างเต็มตามศักยภาพ
การวัดและประเมินผลการเรียนรู้  เป็นกระบวนการที่ให้ผู้สอนใช้พัฒนาคุณภาพผู้เรียนเพื่อให้ได้ข้อมูลสารสนเทศ  ที่แสดงพัฒนาการความก้าวหน้าและความสำเร็จทางการเรียนของผู้เรียน  ให้เป็นการประเมินเพื่อปรับปรุงการเรียนมากกว่าการตัดสินผลการเรียน  (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ.2557)

แนวทางการประยุกต์สู่การปฏิบัติ
          ใช้หลักการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อตอบสนองต่อนโยบายส่วนกลางและสนองต่อจุดเน้นของสถานศึกษา และหลักสูตรแกนกลาง และท้องถิ่น ออกแบบการจัดการเรียนรู้หลากหลาย เพื่อพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพแต่ละบุคคล และเน้นการวัดและประเมินผลแบบอิงพัฒนาการ หรือตามสภาพจริง

หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 ภาวะผู้นำทางวิชาการ
1. การเป็นผู้นำทางวิชาการ
               ผู้นำทางวิชาการ คือ ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในทฤษฎี ปรัชญาของหลักสูตรต่างๆที่ใช้ในสถานศึกษา มีความรู้ความเข้าใจในวิธีสอนแบบต่าง  ๆ ใช้นวัตกรรมการสอนเป็นแบบอย่างที่ดีในเชิงวิชาการ พัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการของโรงเรียน จัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จัดการเรียนรู้เป็นไปตามแผนการจัดการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ การจะก้าวสู่ความเป็นผู้นำทางวิชาการได้นั้นจำเป็นจะต้องเรียนรู้และปฏิบัติภารกิจในบทบาทต่าง ๆ อย่างหลากหลายทั้งนี้เพราะผู้นำทางวิชาการย่อมจะต้องเปี่ยมไปด้วยความรู้ความสามารถ และความเท่าทันในองค์ความรู้ต่าง ๆ
             ขั้นตอนการพัฒนาภาวะผู้นำทางวิชาการ
            1.ศึกษาสำรวจตนเอง เพื่อให้เข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้ง วิเคราะห์ตนเอง และการรับฟัง ความคิดเห็นจากผู้ใกล้ชิดที่หวังดี สรุปให้เห็น จุดแข็ง จุดอ่อนที่ควรพัฒนา ภายใต้นบริบทของการจัดการศึกษา และอุดมคติ อุดมการณ์ของตน
           2.เลือกคุณสมบัติ พฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่ง เพียงพฤติกรรมเดียวในการพัฒนาแต่ละครั้ง ควรเลือกจาก พฤติกรรม/คุณลักษณะที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่าย และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม
           3.กำหนดวัตถุประสงค์ พฤติกรรม / คุณลักษณะที่ตนต้องการ แล้วเขียนเป็นวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนแปลง จะได้ยึดเป็นเป้าหมายในการพัฒนาตน และใช้เป็นพลัง ภายใน ที่จะผลักดันให้บรรลุเป้าหมายได้ต่อไป
           4.หาความรู้ในการพัฒนาพฤติกรรม / คุณลักษณะเหล่านั้น ด้วยการค้นคว้าตำรา ปรึกษาผู้รู้ เลือกใช้ เทคนิควิธี ทีเหมาะสมกับตัวเรา ทั้งความเข้มแข็งของจิตใจ บริบทแวดล้อม และจัดทำแผนปฏิบัติการที่สามารถ ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง
           5.ปฏิบัติการตามแผนที่กำหนดไว้บันทึกผลที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่ปฏิบัติ หากพบผลการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี บรรลุผลได้ดีขึ้น
           6.เมื่อประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์หาทางเผยแพร่นวัตกรรมที่ค้นพบได้ด้วยตนเองเพื่อเป็นตัวอย่าง แก่ผู้สนใจต่อไป ในส่วนตัวก็ควรเลือกพัฒนาตนในด้านอื่นๆด้วย หลักการกระบวนการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพราะงานพัฒนาไม่มีวันจบ (บุหงา วชิระศักดิ์มงคล (ม.ป.ป.))

2. การสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน
ในการจัดการเรียนการสอน ผู้สอนต่างปรารถนาให้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนดำเนินไปอย่างราบรื่น และผู้เรียนเกิดพฤติกรรมตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร บรรยากาศในชั้นเรียนมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ความปรารถนานี้เป็นจริง พรรณี ชูทัย (2522) อ้างถึงใน ภควรรณ โทมา (2554)
กล่าวถึงบรรยากาศในชั้นเรียนที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการสอน จัดแบ่งได้ 6 ลักษณะ สรุปได้ดังนี้
1. บรรยากาศที่ท้าทาย (Challenge)  
2. บรรยากาศที่มีอิสระ (Freedom) 
3. บรรยากาศที่มีการยอมรับนับถือ (Respect) เป็นบรรยากาศที่ครูรู้สึกว่านักเรียนเป็นบุคคลสำคัญ มีคุณค่า และสามารถเรียนได้ อันส่งผลให้นักเรียนเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและเกิดความยอมรับนับถือตนเอง
4. บรรยากาศที่มีความอบอุ่น (Warmth) 
5.บรรยากาศแห่งการควบคุม (Control) การควบคุมในที่นี้ หมายถึง การฝึกให้นักเรียนมีระเบียบวินัย มิใช่การควบคุม ไม่ให้มีอิสระ ครูต้องมีเทคนิคในการปกครองชั้นเรียนและฝึกให้นักเรียนรู้จักใช้สิทธิหน้าที่ของตนเองอย่างมีขอบเขต
6. บรรยากาศแห่งความสำเร็จ (Success) เป็นบรรยากาศที่ผู้เรียนเกิดความรู้สึกประสบความสำเร็จในงานที่ทำ 

3.นวัตกรรมการบริหารจัดการในชั้นเรียนแนวใหม่
          การเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Learning รูปแบบการเรียนการสอน ซึ่งใช้การถ่ายทอดเนื้อหา(delivery methods) ผ่านทางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต อินทราเน็ต เอ็กซทราเน็ต หรือ ทางสัญญาณโทรทัศน์ หรือ สัญญาณดาวเทียม และใช้รูปแบบการนำเสนอเนื้อหาสารสนเทศในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบการเรียนที่เราคุ้นเคยกันมาพอสมควร เช่น คอมพิวเตอร์ช่วยสอน(Computer-Assisted Instruction) การสอนบนเว็บ (Web-Based Instruction) การเรียนออนไลน์ (On-line Learning) การเรียนทางไกลผ่านดาวเทียม หรืออาจอยู่ในลักษณะที่ยังไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายนัก เช่น การเรียนจากวิดีทัศน์ตามอัธยาศัย (Video On-Demand) เป็นต้น
e-Learningไม่ใช่เพียงแค่การสอนในลักษณะเดิม ๆ และนำเอกสารการสอนมาแปลงให้อยู่ในรูปดิจิตัล และนำไปวางไว้บนเว็บ หรือระบบบริหารจัดการการเรียนรู้เท่านั้น แต่ครอบคลุมถึง กระบวนการในการเรียนการสอน หรือการอบรมที่ใช้เครื่องมือทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นทางการเรียนรู้ (flexible learning) สนับสนุนการเรียนรู้ในลักษณะที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (learner-centered) และการเรียนในลักษณะตลอดชีวิต (life-long learning) ซึ่งอาศัยการเปลี่ยนแปลงด้านกระบวนทัศน์ (paradigm shift) ของทั้งกระบวนการในการเรียนการสอนด้วย นอกจากนี้ e-Learning ไม่จำเป็นต้องเป็นการเรียนทางไกลเสมอ คณาจารย์สามารถนำไปใช้ในลักษณะการผสมผสาน (blended) กับการสอนในชั้นเรียนได้
          ลักษณะสำคัญของ e-Learning (Feature of e-Learning)ประกอบไปด้วยลักษณะสำคัญ 4 ประการ ดังนี้ 1) ทุกเวลาทุกสถานที่ (Anywhere, Anytime) 2) มัลติมีเดีย (Multimedia) 3) การเชื่อมโยง (Non-linear) และ 4) การโต้ตอบ (Interaction)  ควรต้องมีการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนโต้ตอบ(มีปฏิสัมพันธ์) กับเนื้อหา หรือกับผู้อื่นได้ (อภิญญา เข็มอักษร,2554)

4. จิตวิทยาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน
เทวิน ศรีดาโคตร (2554) กล่าวว่า จิตวิทยาการเรียนรู้ ( Psychology of learning) หมายถึงจิตวิทยาที่ใช้ในการถ่ายทอดความรู้ โดยการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้นั้นต้องเกิดจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวรหรือเกิดจากการฝึกฝน ซึ่งกระบวนการเรียนรู้จะเกิดได้จากขั้นตอนหลัก 4 ขั้นตอน คือตั้งใจจะรู้ กำหนดวิธีปฏิบัติเพื่อให้รู้ ลงมือปฏิบัติและได้รับผลประจักษ์ สำหรับทฤษฎีการเรียนรู้นั้นจะพยายามศึกษาว่ากระบวนการเรียนรู้นั้นมีลักษณะอย่างไร ในงานวิจัยส่วนใหญ่นั้นจะทำการศึกษาแบบพฤติกรรมนิยมแบบพุทธินิยมและแบบ self-regulated learning โดยมีจิตวิทยาทางสื่อเป็นแนวการศึกษาใหม่ที่เพิ่มเข้ามา เนื่องจากเทคโนโลยีมีบทบาทในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้

5. การให้คำปรึกษา คำแนะนำ และข้อเสนอแนะ
การให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียน เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กับผู้รับเพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาได้รู้จักและเข้าใจตนเอง สามารถแก้ไขปัญหาของตนเองได้และดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างความสุข งานครูที่ปรึกษาจะหาวิธีการที่เหมาะสมเพื่อให้คำปรึกษาแก่นักเรียนนั้น ครูที่ปรึกษาควรทราบถึงความมุ่งหมายของการให้คำปรึกษาแก่นักเรียน การให้คำปรึกษาทางวิชาการเป็นกระบวน การให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือด้านวิชาการ การชี้แจงหลักสูตร การลงทะเบียน การวางแผนการเรียน การวัดผล การเพิ่มเติมรายวิชา การพ้นสภาพ การโอนย้ายแผนกวิชา การติดตามผลการเรียน การแนะนำการเรียน การศึกษาต่อ
เทคนิคการให้คำปรึกษา
ขั้นตอนที่ 1  การสร้างสัมพันธภาพ การสร้างสัมพันธภาพเป็นขั้นตอนแรกของการให้การปรึกษา เพื่อให้ผู้รับการปรึกษาเกิดความไว้วางใจ
ขั้นตอนที่ 2 การตกลงบริการปรึกษา เป็นขั้นตอนที่ผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษาทำความตกลงเพื่อให้มีความเข้าใจตรงกันในประเด็นที่จะปรึกษา
ขั้นตอนที่ 3 การสำรวจ ทำความเข้าใจปัญหา สาเหตุ และความต้องการของผู้รับการปรึกษา เป็นขั้นตอนที่ช่วยให้ผู้รับการปรึกษาได้สำรวจทบทวนความคิด อารมณ์ความรู้สึกและพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของตน ผู้ให้การปรึกษาจะติดตามเรื่องราวของปัญหาโดยการผสานทักษะต่างๆ
ขั้นตอนที่ 4 การวางแผนแก้ไขปัญหา เป็นขั้นตอนที่ช่วยให้ผู้รับการปรึกษาได้เริ่มต้นที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเองก่อน โดยผู้ให้การปรึกษาพยายามเอื้ออำนวยให้ผู้รับการปรึกษาได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อให้มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน
ขั้นตอนที่  5 การยุติการปรึกษา เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการให้การปรึกษา วิธีการปฏิบัติในขั้นตอนที่ผู้ให้การปรึกษาเอื้ออำนวยให้ผู้รับการปรึกษาสรุปประเด็นที่มาปรึกษาและแนวทางแก้ไขที่จะนำไปปฏิบัติตามแผนที่กำหนดในการพบครั้งต่อๆไป (งานแนะแนว วิทยาลัยพยาบาลพระบรมราชชนี ตรัง, ม.ป.ป.)

แนวทางการประยุกต์สู่การปฏิบัติ
          พัฒนาตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญการจัดการเรียนรู้แนวใหม่ด้วยเทคโนโลยีและสารสนเทศ ผ่านโซเชียลมีเดีย เข้าใจและหาทางแก้ปัญหาชั้นเรียนและผู้เรียนรายบุคคลด้วยระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างทั่วถึงและจริงใจ เต็มใจ


หน่วยการเรียนรู้ที่ ๓ ความเป็นครู
1. พัฒนาจิตวิญญาณของความเป็นครู เพื่อสร้างเสริมคุณธรรมจริยธรรม
          คุณลักษณะครูที่พึงประสงค์ ธีรวัฒน์  เลื่อนฤทธิ์ (2552)   ประกอบด้วย ครูต้องเป็นผู้ที่มีความรู้
พัฒนาตนเอง มีความคิดสร้างสรรค์ ทันเหตุการณ์รักและศรัทธาในวิชาชีพครู มีความเสียสละมีคุณธรรม จริยธรรม เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์และสังคม มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตลอดจนมีการส่งเสริมและพัฒนาศิลปและวัฒนธรรม มีความอดทน รับผิดชอบต่อหน้าที่เอาใจใส่ต่อนักเรียน นอกจากนี้ยังมีความขยันหมั่นเพียร รักความยุติธรรม และดํารงชีวิตอย่างเรียบง่าย ดังนั้นการพัฒนาให้ผู้ประกอบวิชาชีพครู และนักศึกษาครูในสถาบันผลิตครูมีจิตวิญญาณความเป็นครูจะเป็นส่วนที่มีความสําคัญให้การประกอบวิชาชีพครูมีความสมบูรณ์ในการพัฒนาศิษย์ และเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา

2.วินัยและจรรยาบรรณของวิชาชีพครู
           1. ครูต้องรักษาวินัยที่บัญญัติเป็นข้อห้ามและข้อปฏิบัติไว้ในหมวดนี้โดยเคร่งครัดอยู่เสมอ
            2. ครูต้องสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วยความบริสุทธิ์ใจและมีหน้าที่วางรากฐานให้เกิดระบอบการปกครองเช่นว่านั้น
          3. ครูต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เสมอภาคและเที่ยงธรรม มีความวิริยะ อุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร ดูแลเอาใจใส่รักษาประโยชน์ของทางราชการและต้องปฏิบัติตนตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเคร่งครัด
            4. ครูต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ และหน่วยงานการศึกษา มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาลโดยถือประโยชน์สูงสุดของผู้เรียนและไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
            5. ครูต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการโดยไม่ขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง
            6. ครูต้องตรงต่อเวลา อุทิศเวลาของตนให้แก่ทางราชการและผู้เรียนจะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรมิได้ การละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือโดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการเป็นความผิดวินัยร้ายแรง
            7. ครูต้องประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน ชุมชน สังคม มีความสุภาพเรียบร้อย รักษาความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลต่อผู้เรียนและระหว่างข้าราชการด้วยกันหรือผู้ร่วมปฏิบัติราชการ ต้อนรับ ให้ความสะดวก ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เรียนและประชาชนผู้มาติดต่อราชการ
             8. ครูต้องไม่กลั่นแกล้ง กล่าวหาหรือร้องเรียนผู้อื่นโดยปราศจากความเป็นจริง
             9. ครูต้องไม่กระทำการหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาประโยชน์อันอาจทำให้เสื่อมเสียความเที่ยงธรรม หรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ในตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน
           10. ครูต้องไม่คัดลอกหรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่นโดยมิชอบหรือนำเอาผลงานทางวิชาการของผู้อื่นหรือจ้างวานให้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการเพื่อไปใช้ในการเสนอขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะหรือการให้ได้รับเงินเดือนในระดับที่สูงขึ้น การฝ่าฝืนหลักการดังกล่าวนี้เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
           11. ครูต้องไม่เป็นกรรมการผู้จัดการหรือผู้จัดการหรือดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันนั้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
           12. ครูต้องวางตนเป็นกลางทางการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่และในการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยต้องไม่อาศัยอำนาจและหน้าที่ราชการของตนแสดงการฝักใฝ่ ส่งเสริม เกื้อกูล สนับสนุนบุคคล กลุ่มบุคคล หรือพรรคการเมืองใด
           13. ครูต้องรักษาชื่อเสียงของตนและรักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสียโดยไม่กระทำการใดๆ อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว
จรรยาบรรณของวิชาชีพครู
          1.  ครูต้องประพฤติตามจรรยาบรรณของวิชาชีพและแบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ
           2.  ครูต้องมีวินัยในตนเอง พัฒนาตนเองด้านวิชาชีพ บุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ ให้ทันต่อ
การพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เสมอ
           3.  ครูต้องรัก ศรัทธา ซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบต่อวิชาชีพ และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพ
            4.  ต้องรัก เมตตา เอาใจใส่ ช่วยเหลือ ส่งเสริมให้กำลังใจแก่ศิษย์และผู้รับบริการตามบทบาทหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
          5.  ครูต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ
          6.  ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์ หรือผู้รับบริการ
           7.  ครูต้องให้บริการด้วยความจริงใจและเสมอภาคโดยไม่เรียกรับหรือยอมรับผลประโยชน์จากการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ
           8.  ครูต้องช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์ โดยยึดมั่นในระบบคุณธรรม สร้างความสามัคคีในหมู่คณะ
           9.  ครูต้องประสงค์ปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม รักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมและยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

3.หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
              พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัส ที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็นโดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน คำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ประกอบด้วย
               ห่วงที่ 1 คือ พอประมาณ หมายถึง พอประมาณในทุกอย่าง ความพอดีไม่มากหรือว่าน้อยจนเกินไปโดยต้องไม่เบียดเบียนตนเอง หรือผู้อื่นให้เดือดร้อน
               ห่วงที่ 2 คือ มีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ
               ห่วงที่ 3 คือ มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเอง หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
               2 เงื่อนไข ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่
            เงื่อนไขที่ 1 เงื่อนไขความรู้ คือ มีความรอบรู้เกี่ยวกับ วิชาการต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน
            เงื่อนไขที่ 2 เงื่อนไขคุณธรรม คือ มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,2550)

แนวทางการประยุกต์สู่การปฏิบัติ
          พัฒนาตนเองเป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้เรียน เพื่อนร่วมวิชาชีพ และสังคม ดำรงตนภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และกรอบจรรยาบรรณวิชีพครู

หน่วยการเรียนรู้ที่ ๔ การวางแผนกลยุทธ์เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
1. การวิเคราะห์บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
       การจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพตามเป้าหมายของหลักสูตร ทั้งผู้สอนควรมีบทบาท ดังนี้
1) ศึกษาวิเคราะห์ผู้เรียนเป็นรายบุคคล  แล้วนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนการจัดการเรียนรู้ ที่ท้าทายความสามารถของผู้เรียน
2) กำหนดเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน ด้านความรู้และทักษะกระบวนการ ที่เป็นความคิดรวบยอด หลักการ และความสัมพันธ์ รวมทั้งคุณลักษณะอันพึงประสงค์
3) ออกแบบการเรียนรู้และจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลและพัฒนาการทางสมอง เพื่อนำผู้เรียนไปสู่เป้าหมาย
4) จัดบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้  และดูแลช่วยเหลือผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้
5) จัดเตรียมและเลือกใช้สื่อให้เหมาะสมกับกิจกรรม  นำภูมิปัญญาท้องถิ่น  เทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน
6) ประเมินความก้าวหน้าของผู้เรียนด้วยวิธีการที่หลากหลาย  เหมาะสมกับธรรมชาติของวิชาและระดับพัฒนาการของผู้เรียน
7) วิเคราะห์ผลการประเมินมาใช้ในการซ่อมเสริมและพัฒนาผู้เรียน รวมทั้งปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนของตนเอง
(กระทรวงศึกษาธิการ.2553)

2.การวางแผนกลยุทธ์เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
ในการวางแผนพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด  ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญและคุณลักษณะอันพึงประสงค์  (กระทรวงศึกษาธิการ.2553) ดังนี้
          สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญ ๕ ประการ ดังนี้
          ) ความสามารถในการสื่อสาร ๒) ความสามารถในการคิด ๓) ความสามารถในการแก้ปัญหา
) ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต   และ ๕) ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี
คุณลักษณะอันพึงประสงค์
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข  ในฐานะเป็นพลเมืองไทยและพลโลก   ดังนี้
๑)  รักชาติ  ศาสน์ กษัตริย์  ๒.) ซื่อสัตย์สุจริต  )  มีวินัย  ๔) ใฝ่เรียนรู้  ๕) อยู่อย่างพอเพียง
)  มุ่งมั่นในการทำงาน  ๗) รักความเป็นไทย และ ๘) มีจิตสาธารณะ
นอกจากนี้ สถานศึกษาสามารถกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์เพิ่มเติมให้สอดคล้องตามบริบทและจุดเน้นของตนเอง โดยทุกภาคส่วนที่มีสวนได้ส่วนเสียร่วมกันหล่อหลอมผู้เรียน   

3.การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
คุรุรักษ์ ภิรมน์รักษ์ (2544) กล่าวว่า วิจัยในชั้นเรียนมีประโยชน์ ดังนี้ 1)ช่วยให้ครูมีพลังอำนาจในการแก้ปัญหาในชั้นเรียนอย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ 2) ช่วยให้ครูมีความมั่นใจในการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ 3) ช่วยให้ครูทำงานได้อย่างมีระบบมากขึ้น ประสบความสำเร็จในการทำงาน 4) ช่วยให้โรงเรียนสามารถกำหนดนโยบายหรือมาตรการต่างๆเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสมโดยมีผลการวิจัยรองรับ 5) ช่วยให้ผู้เรียนแก้ไขปัญหาและพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพทั้งด้านความรู้ ความสามารถ ทักษะ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์

แนวทางการประยุกต์สู่การปฏิบัติ
          ปฏิบัติหน้าที่ตามสมรรถนะหลักและรองในการดำรงตนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครู ด้านการเรียนการสอน วางแผนพัฒนาตนเองสม่ำเสมอ และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รักการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาชั้นเรียน และมีการวางเป้าหมายที่เกิดขึ้นกับการจัดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ และวัดผลได้









บรรณานุกรม

Taba, H.  (1962) Curriculum development : theory and practice. New York: Harcourt, Brace and World.
สุเทพ อ่วมเจริญ. (2557). การพัฒนาหลักสูตร: ทฤษฏีและการปฏิบัติ (พิมพ์ครั้งที่ 6). คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ.2557. แนวปฏิบัติการวัดและ
ประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2561. พิมพ์ ครั้งที่ 2. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ.
กระทรวงศึกษาธิการ.2553. หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ.               โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ.
บุหงา วชิระศักดิ์มงคล (ม.ป.ป.).ภาวะผู้นำทางวิชาการ. สืบค้น เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2561.
ภควรรณ โทมา (2554) การจัดบรรยากาศในชั้นเรียน.สืบค้น เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2561.
อภิญญา เข็มอักษร (2554) นวัตกรรมการบริหารจัดการในชั้นเรียน. สืบค้น เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2561. URL: http://oknation.nationtv.tv/blog/print.php?id=901519
เทวิน ศรีดาโคตร (2554) จิตวิทยาการเรียนรู้. สืบค้น เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2561. URL:
งานแนะแนว วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ตรัง (ม.ป.ป.) คู่มือการให้คำปรึกษาสำหรับอาจารย์ที่ปรึกษาประจำครอบครัว.วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ตรัง.
ธีรวัฒน์  เลื่อนฤทธิ์ (2552)   การพัฒนาตัวบ่งชี้คัดสรรการปฏิบัติงานมาตรฐานวิชาชีพครู.
วิทยานิพนธ มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2550) ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง.  โรงพิมพ์21 เซ็นจูรี่. กรุงเทพฯ





No comments:

Post a Comment

โครงงานการศึกษาพฤติกรรมการออกไข่ของไก่ไข่

     การทดลองเลี้ยง ไก่ไข่ เพื่อใช้รับประทานอย่างปลอดภัย ปลอดสารพิษ สามารถทำได้ง่าย ที่บ้านผมเลี้ยงจำนวน 14 ตัว แบ่งเป้็น ไก่ไข่ ตัวเมีย 11 ...

Pageviews